บทที่ 12
“เอ็งมิได้ถือสาอันใดที่นางเป็นหญิงแลอ่อนวัยกว่าเอ็งนะ” พ่อครูพันถามย้ำ
“ข้ามิคิดเลย แม่ปรางมีบุญคุณกับข้าล้นฟ้า นางช่วยชีวิตข้าไว้ หนำซ้ำนางนั้นมีฝีมือเป็นเลิศ เพราะได้รับถ่ายทอดจากพ่อครูมา ข้าเห็นว่า มิมีอันใดเลยที่ข้าจักไหว้นาง ยกนางเป็นครูของข้ามิได้”
พ่อครูพันยิ้ม “ดีมากไอ้มิ่ง คิดเห็นเช่นนี้แล เอ็งจักเรียนวิชาทั้งหลายได้ง่ายแลมากมายนัก เพราะใจเอ็งมิมีเดียดฉันท์ดั่งตุ่มที่น้ำพร่อง ย่อมรองรับน้ำฝนได้มาก”
ศิษย์หลายคนมองหน้ากัน เดชยิ้ม แต่ริดกับเลื่องไม่สบอารมณ์นัก
มิ่งขยับไปเบื้องหน้าปราง แต่นางพูดขึ้นว่า
“พ่อ ขอให้พ่อรับพานจากนายมิ่งเถิด ข้าเพียงแต่ช่วยพ่อดูแลเขาเท่านั้น พ่อต่างหากที่เป็นครูของเขาโดยแท้”
พ่อครูพันเห็นลูกสาวอิดออด จึงว่า “หากแม่ปรางมิสะดวกใจ พ่อจักรับพานของไอ้มิ่งเอง แต่พ่ออยากให้เจ้าเป็นครูสอนมัน เพื่อฝึกตัวเจ้าเป็นครู ถ่ายทอดวิชาศาสตราวุธให้ผู้อื่นต่อไปนะ”
ปรางอึกอัก แต่ก็รับคำผู้เป็นพ่อไปว่า “เจ้าค่ะ พ่อ”
เมื่อพิธียกครูผ่านพ้น พ่อครูพันก็กล่าวแก่ศิษย์ใหม่ทุกคนว่า
“ข้ายินดียิ่งที่พวกเจ้ามีใจเสียสละ คิดจักฝึกวิชาการรบเพื่อร่วมปลดปล่อยพวกเราเองจากการเป็นทาสขอม มันถึงวาระแล้วที่พวกเราจักเลิกอดทนต่อการกดขี่กุมเหง แต่ครั้งบรรพกาล พันปีเศษที่แล้ว สมัยพระเจ้าพังคราช พวกมันรุกราน กดขี่เราเป็นทาส ทั้งที่เราอยู่บนแผ่นดินที่อยู่กันมาแต่บรรพบุรุษ เรียกเก็บส่วยจากเรา พระเจ้าพรหมท่านมาขับไล่พวกมันออกไป ทำให้เราได้อยู่เป็นสุขกันมาอีกหลายร้อยปี พวกมันก็กลับมารุกราน เรียกเก็บส่วยจากเราอีก ย่ำยีคนของเราอย่างไร้ความปรานี ครานั้น พระร่วงผู้ครองกรุงสุโขทัยครั้งกระโน้น ท่านบารมีมาก ก็กำราบปราบมันลงสิ้น เพลานี้ พวกเราอ่อนแอ มันก็เข้ามากดขี่เราเป็นทาสอีก จึงถึงเวลาแล้ว ที่เราจักต้องกระทำการเยี่ยงบรรพบุรุษ” พ่อครูพันหยุดไปนิดหนึ่งก่อนจะกล่าวต่อ
“แลข้าก็หวังว่า การขับไล่พวกมันครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ขอให้มันมิกล้ามารุกรานเราอีกเลย พวกเจ้าเห็นเป็นเช่นใด”
“ขอมจักอยู่บนแผ่นดินของเรามิได้ พวกมันต้องออกไป” ชายคนหนึ่งตะโกนขึ้น ส่งผลให้คนทั้งกลุ่มส่งเสียงโห่ร้องด้วยความฮึกเหิม
“ออกไป ออกไปๆๆๆๆๆ”
เสียงโห่ร้องดังอื้ออึงอยู่พักหนึ่ง เพราะหลายคนมีประสบการณ์อันขมขื่นร่วมกัน บางคนเคยโดนขู่ เรียกเอาข้าวของทรัพย์สินไปตามใจชอบ บางคน คนในครอบครัวถูกฆ่า บางคน ลูกสาวหลานสาวโดนฉุดคร่าไปอย่างมิอาจช่วยเหลืออะไรได้ ได้แต่อดทนจนเหลือจะอด..
หลังพิธีเสร็จสิ้น แม่ขาบรีบกุลีกุจอสั่งให้บ่าวหญิงในบ้านพ่อครูช่วยกันยกข้าวปลาอาหารจากในครัว เอามาตั้งวงให้คนในบ้านและศิษย์ใหม่กินกันเป็นกลุ่มๆ มิ่งกับศิษย์ใหม่อีก 4 คนนั่งล้อมวงรวมกัน มิ่งมองที่สำรับ มีชามแกงป่าปลาช่อนควันขึ้นกรุ่น คงจะเพิ่งอุ่นมาใหม่ วางอยู่รวมกับกับข้าวอื่นๆ มิ่งตักน้ำแกงกับเนื้อปลาใส่ชามของตน แล้วเปิบข้าวเข้าปาก ทันทีที่รู้รส มิ่งก็รู้สึกได้ทันทีว่ารสชาติช่างโอชาดังที่แม่ขาบบอกจริงๆ เสียด้วย มิ่งเงยหน้ามองไปที่ปรางซึ่งเป็นผู้ปรุงแกงชามนี้ ดูเหมือนนางจะเฝ้ามองอยู่ แต่หลบสายตาไปเสียก่อน...
เดชเดินออกมา นั่งลงตรงที่ว่างข้างๆ ปราง มิ่งเบือนหน้าจากภาพนั้นโดยพลัน ก่อนที่เดชจะทันสังเกตเห็น และแกงที่เลิศรสนั้นก็ดูเหมือนจะไร้รสลงไปในทันที
....
อาหารเช้าวันหยุดที่บ้านของพสิฐ วันนี้สมาชิกในครอบครัวอยู่ที่โต๊ะกันพร้อมหน้า รวมถึงอุ๊กับข้าวฟ่างที่นั่งฟังการสนทนาของผู้เป็นนายอยู่ไม่ห่างนัก
“สมัยโบราณน่ะ เวลาจะฝึกวิชามวย วิชาดาบ ศิษย์จะต้องทำงานอย่างตำข้าว ผ่าฟืน กระเดียดน้ำ อย่างหนักเสียก่อน ไม่ใช่แค่ธรรมเนียมรับใช้ครูบาอาจารย์นะ แต่เป็นการฝึกรากฐานของร่างกายตามธรรมชาติ ทำให้กล้ามเนื้อทุกส่วนตั้งแต่ข้อมือ ไหล่ สันหลัง หน้าอกแข็งแรง แล้วครูถึงจะเริ่มสอนท่าทางของแม่ไม้ให้” พสิฐว่า หลังจากที่สาวิตรเปิดประเด็นขึ้นมาเรื่องการฝึกวิชามวยวิชาอาวุธในสมัยโบราณ
“มีกระเดียดน้ำด้วย กระเดียดน้ำทำไงอะคะพ่อ” นาถนพินถามขึ้น
“มันเป็นวิธีการตักน้ำจากบ่อหรือห้วยหนองคลองบึงน่ะ เขาจะใช้กระบอกไม้ไผ่ปล้องยาว ผิวบาง ทะลวงข้อขึ้นไป แต่ละกระบอกยาวสักเมตรกว่าๆ เอาไปตักน้ำและใช้แขนหนีบไว้ข้างๆ กับชายโครง แล้วก็เอาน้ำไปใส่ตุ่มบนเรือน พอกระเดียดน้ำแบบนี้ทุกวัน กล้ามเนื้อชายโครงก็แข็งแรง”
สาวิตรฟังแล้วยิ้ม นึกถึงภาพมิ่งที่เขาแลเห็นกระเดียดน้ำขึ้นเรือนอยู่ มันไม่ง่ายเลย แรกๆ มิ่งทำน้ำหกเป็นประจำ จนปรางซึ่งนั่งแลดูอยู่บนเรือน ต้องดุว่า “ทำดีๆ สิเจ้า” แล้วมิ่งก็มีงานเพิ่มขึ้น นั่นก็คือเช็ดน้ำที่หกบนเรือน บางครั้งแม่ขาบก็ออกมา ใช้ให้มิ่งเช็ดเรือนไปยาวๆ ยาวกว่าบริเวณที่เขาทำน้ำหก เป็นการถูพื้นไปในตัว
“พ่อมิ่งทำน้ำหกแบบนี้ก็ดีนะ แม่ปราง เรือนสะอาดเป็นมันเลย” แม่ขาบว่า
“ไม่ดีดอก พี่ขาบ เหลาะแหละอยู่เช่นนี้ เมื่อใดเล่าจักเป็น แลจักแข็งแรงอย่างเขา ผู้อื่นเขามิทำน้ำหกกันแล้ว” ปรางซึ่งอยู่ในฐานะครูกลายเป็นแม่หญิงจอมดุอย่างที่มิ่งเจอวันแรกไปเรียบร้อย และคงจะหงุดหงิดอยู่ไม่น้อยที่มิ่งทำได้ช้ากว่าคนอื่น
มิ่งเช็ดน้ำไป ลอบมองนางไป ก็เห็น “ครู” มีสีหน้าเรียบเฉยอยู่ตลอด
ยิ่งคิดถึงภาพปรางในความฝัน สาวิตรก็ยิ่งยิ้มกว้าง จนนาถนพินสังเกตเห็น จึงทักขึ้นว่า
“พี่วิตรยิ้มอะไรคะ มันน่าขำมากเลยหรือ”
สาวิตรรู้สึกเก้อเขิน แต่ก็แก้เก้อไปว่า “พี่นึกภาพตามที่อาพูดน่ะ มันคงแปลกอยู่นะ ตักน้ำแบบนั้น”
“อย่ามัวแต่ยิ้มอยู่ กินผลไม้กันสักหน่อย” ยุพเยาว์ซึ่งนั่งเงียบฟังการสนทนาเลื่อนจานผลไม้รวมซึ่งวางอยู่นานแล้วแต่ไม่มีใครสนใจไปตรงกลางโต๊ะ
สาวิตรกับนาถนพินหยิบซ่อมคันเล็กที่วางอยู่ จิ้มผลไม้เข้าปาก พสิฐยังคงเฉย
“ไม่กินสักหน่อยหรือ” ยุพเยาว์ถามผู้เป็นสามี จนพสิฐต้องหยิบซ่อมขึ้นมาจิ้มผลไม้ด้วยความเกรงใจ วงสนทนาหยุดไปหน่อยหนึ่ง ก่อนยุพเยาว์จะถามขึ้นบ้าง
“สมัยโบราณเขาจะฝึกมวยด้วยการเตะต้นกล้วยใช่ไหม”
“ใช่ คืออย่างนี้ สมัยก่อน ครูจะให้ศิษย์ตัดต้นกล้วยมา เอามาตั้งให้ตรง แล้วเตะไป เตะทั้งสองเท้าเลยนะ แต่เตะแบบประคอง ไม่ให้ต้นกล้วยล้ม แล้วก็เตะตั้งแต่ระดับต่ำถึงระดับสูง เรียกว่าเตะบนเตะล่าง สลับกัน ถ้าเตะได้คล่องแล้วต้นกล้วยไม่ล้ม ก็จะเปลี่ยนไปเตะต้นกล้วยที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ” พสิฐตอบ
สาวิตรคิดถึงมิ่ง คิดถึงภาพที่เห็นในฝันแล้วยังจำได้ติดตา คือภาพแม่ปรางนั่งอยู่กับเดช ทั้งสองคนผลัดกันบรรยายวิธีเตะต้นกล้วยให้แก่มิ่ง
“เตะไม่ให้ล้มนะนายมิ่ง ไม่ใช่เตะให้แหลกลาญ” เสียงแม่ปรางย้ำ
มิ่งฝึกเตะต้นกล้วย ถึงแม้จะเคยเห็นการฝึกแบบนี้มาบ้างที่บ้านปู่ แต่มาลองฝึกเข้าจริงๆ ก็รู้สึกว่ายาก แรกๆ ก็ประคองไม่ให้ล้มไม่ได้ จนริดกับเลื่องที่นั่งอยู่ไม่ไกล อดหัวเราะไม่ได้
“ไอ้ริด ไอ้เลื่อง หัวเราะอันใด” เดชปราม เจ้าสองคนหุบปากทันที
แล้วเดชก็คอยบอกคอยแนะเทคนิคให้ ในที่สุดมิ่งก็เตะประคองต้นกล้วยได้และสนุกไปกับการฝึกวิธีนี้
“ดียิ่งนัก พ่อมิ่ง” เดชชม เมื่อเห็นมิ่งทำได้คล่องและเดินมาตบไหล่เขา
นึกถึงเดชขึ้นมา สาวิตรก็สะท้อนใจ มิ่งหรือตัวเขาในวันนี้ จะมีวันสมปรารถนา ได้อยู่เคียงข้างแม่ปรางไหม และถ้าเขาสมหวังขึ้นมา เดชผู้เป็นทั้งครู ทั้งมิตรที่ดี จะเสียใจขนาดไหนกันนะ
“การฝึกมวยแต่โบราณ เขามีการเอามะนาวมาใช้ฝึกการป้องกันตัวด้วยนะ” พสิฐเล่าต่อ ดึงสาวิตรให้ออกมาจากห้วงความคิด
“ยังไงคะ เอามะนาวมาฝึก” นาถนพินนึกงง
“เขาเอามะนาวมาผูกติดกับด้ายแล้วแขวนห้อยกับไม้รวก สัก 4-5 ลูกนะ ห่างกันพอประมาณ ให้อยู่ระดับคอหอยของผู้ฝึก แล้วก็ให้คนๆ นั้นใช้หมัดต่อย ศอกถอง แล้วก็แขนรับ” พสิฐออกท่าทางประกอบ
“มันไม่หน่อยละมั้งคุณ” ยุพเยาว์ที่นั่งอยู่ข้างๆ เบี่ยงตัวหลบ “ไม่ต้องมีท่าประกอบก็ได้”
“ขอโทษ พูดแล้วอยากลองฝึกแบบนี้บ้าง” พสิฐหัวเราะ
“ที่ฝึกแบบนี้ก็คือ มีข้อกำหนดว่า อย่าให้มะนาวแกว่งถูกหน้า อย่าให้ด้ายพันกัน อย่าให้ขั้วมะนาวหลุด คนฝึกต้องใช้สมอง ใช้ฝีมือมากเลย แล้วก็ต้องค่อยๆ ต่อย พอฝึกหลบได้คล่องตัวแล้ว คราวนี้ก็เพิ่มลูกมะนาวขึ้น”
สาวิตรยิ้มอีก เพราะมิ่งก็รับการฝึกด้วยวิธีนี้ แรกๆ ก็โดนมะนาวแกว่งกระแทกหน้าจนเป็นรอยช้ำ บางครั้งด้ายที่แขวนมะนาวก็พันกันจนยุ่ง ปรางที่นั่งดูอยู่ต้องเรียกให้เจ้าคง ซึ่งถือว่าเป็นศิษย์พี่ เพราะได้รับการถ่ายทอดวิชามาก่อน มาช่วยทำให้ “ศิษย์น้อง” ดู
“ต้องเยี่ยงนี้สิพี่มิ่ง”
แล้วมันก็มาต่อยมะนาวให้ดู ปรากฏว่า ไม่มีมะนาวโดนหน้า เจ้าเด็กหน้าทะเล้นเลยสักลูก แต่หลังจากฝึกไม่นาน มิ่งซึ่งใช้ความพยายาม ไม่ละทิ้ง ก็ทำได้สำเร็จ และดูเหมือนปรางซึ่งคอยดูอยู่ จะยิ้มให้ลูกศิษย์อย่างมิ่งเป็นครั้งแรก ส่งผลให้หัวใจพองฟูอยู่มิใช่น้อย
“การฝึกชกมะนาวนี่ เขาฝึกเพื่อความคล่องตัวในการหลบหลีก ฝึกสายตาให้ว่องไว แล้วก็ฝึกความหนักแน่น อดทน ฝึกจิตใจให้เย็น ไม่วู่วาม บางคนฝึกไม่ทันไร ก็ทิ้ง เพราะมันไม่ง่ายเลย และมันเป็นทางหนึ่งที่ครูจะรู้นิสัยใจคอของศิษย์ได้ว่า คนใดมีสมาธิ มีความแน่วแน่แค่ไหน ควรจะรับการถ่ายทอดวิชามากน้อยเท่าใด” พสิฐว่า
พสิฐยังเล่าต่อ “บางสำนักพอใช้หมัดคล่องแล้ว ก็จะมีการทดสอบการป้องกันตัวส่วนบนเป็นขั้นสุดท้าย เขาจะเอาแป้งนวลมาผสมน้ำประหน้า แล้วให้ผู้ฝึกขึ้นไปนั่งขัดสมาธิบนก้นครกกระเดื่อง แล้วให้ผู้ซ้อมชก คนที่นั่งบนครกนั่นต้องพยายามปิดหมัดให้ได้ ถ้าหล่นลงมาจากครกบ่อยๆ ก็แปลว่า หลักยังไม่มั่น หรือถ้าแป้งที่ประหน้ามันหลุดออกมากๆ แปลว่ายังปิดและปัดไม่คล่อง ต้องฝึกใหม่”
“คุณนี่รู้เรื่องโบราณดีจัง ระลึกชาติได้งั้นสิ” ยุพเยาว์ว่า
“ครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟังมาน่ะ แต่มันก็รู้สึกชอบและคุ้นเคยกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังไงบอกไม่ถูก แต่เอ เดี๋ยวนี้ วิตรอยากรู้เรื่องโบร่ำโบราณแบบนี้แล้วเหรอ”
“เอ้อ ครับ” สาวิตรตอบได้เพียงนั้น ขณะที่ใจก็นึกสงสัยว่า อาของเขานี้เป็นใครในยุคนั้นกันนะ เพราะความรู้สึกบอกว่า เขาต้องรู้จักมักคุ้น เคยอยู่ร่วมกับผู้เป็นอามาก่อน แต่ครั้งยุคสุโขทัยแน่นอน
.......
ท้องฟ้าคืนนี้สว่างนวลงดงามนัก พระจันทร์ดวงกลมโตลอยเด่นอยู่กลางฟ้า สายลมค่ำพัดต้องผิวเนื้อจนรู้สึกยะเยือก มิ่งนั่งอยู่ผู้เดียวที่บันไดท่าน้ำ เขากอดเข่ากระชับ สายตาทอดมองพระจันทร์กลมโตในน้ำ ที่ตอนนี้ไหวไปตามระลอกคลื่นและแรงลม..กลิ่นดอกไม้กลางคืนหลากชนิดในบริเวณบ้านพ่อครูพันแข่งกันส่งกลิ่นหอมรวยริน บรรยากาศช่างน่าสดชื่นนัก หากคนที่เฝ้าคิดถึงจะมาอยู่เคียงข้าง.. มิ่งถอนหายใจด้วยความรู้สึกขื่นขมลึกๆ อยู่ข้างใน เขาหยิบกิ่งไม้ที่หักอยู่ข้างตัวปาลงน้ำ
“อยู่ใกล้ก็เหมือนไกล” มิ่งคิด เพิ่งเข้าใจความรู้สึกเหงาใจของการเป็นคนไกลเมื่ออยู่ใกล้ก็ยามนี้เอง
สมัยเมื่อมิ่งยังอยู่กับปู่ย่า เขามีหญิงหมายปองอยู่ไม่น้อย หนึ่งในจำนวนนั้นคือแม่อาบ สาวงามประจำหมู่บ้าน ที่ปู่เองก็หมายมั่นจะให้เป็นคู่ครองของมิ่ง แต่เขาไม่เคยคิดจะแลนางแม้สักน้อยหนึ่ง ติดจะรำคาญด้วยซ้ำเมื่อนางหมายเข้าใกล้ จนวันหนึ่ง นางถึงกับเอ่ยปากขึ้นมาว่า
“พี่มิ่งรังเกียจข้ากระนั้นฤา ข้ามาเมื่อใด ทำหน้าราวกับข้าเป็นของเหม็น ข้าอยู่ใกล้พี่แค่นี้ ไยจึงเหมือนเป็นคนไกลพี่นัก”
ยามนั้น เขามิเคยใส่ใจกับคำตัดพ้อใดๆ ของแม่อาบเลย ไม่เข้าใจความรู้สึกน้อยใจของนาง จนที่สุด นางก็ถอยจากเขาไป และออกเรือนไปกับชายอื่นในหมู่บ้านตามความต้องการของพ่อแม่..มีตอนนี้แหละที่ดูเหมือนเขาจะเข้าใจความรู้สึกของนางแล้ว...
มิ่งมีความสุข สุขที่ได้อยู่ใกล้กับปราง เขายอมรับกับตัวเองแล้วว่า ต้องใจนางตั้งแต่แรกเจอ แต่นางอยู่ห่างไกลจากเขานัก ด้วยสถานะครูกับศิษย์ มิมีสักครั้งที่นางจะมีทีท่าพูดคุยกับเขาอย่างกันเอง อย่างครั้งที่เขาติดตามนางมาบ้านพ่อครู ถ้าได้อย่างนั้นอีกสักครั้ง เขาคงจะชื่นใจ หนำซ้ำ เดชอยู่ติดกับนางดั่งเงา ยามที่เห็นเดชดูแลใส่ใจนางเป็นอย่างดี มันช่างเจ็บแปลบร้าวลึกเข้าไปในทรวงยิ่งนัก
“แม่ปรางดื่มน้ำสักหน่อยไหม” เดชพูดขึ้นเมื่อเห็นปรางนั่งปาดเหงื่อด้วยอากาศที่ร้อนอบอ้าว เขาหยิบจอกน้ำขึ้นมาแล้วประคองให้ปรางดื่ม ซึ่งนางก็ดื่มน้ำที่เขาประคองให้จนหมด แล้วรับผ้าซับเหงื่อที่เดชส่งให้ ซับเหงื่อที่ซึมออกมาตามใบหน้า บางครั้งเดชก็หยิบพัด ขึ้นมาคอยพัดวีให้นาง ยามที่อากาศร้อนจัด มิ่งเบือนหน้าจากภาพเหล่านั้นเสมอ จนเจ้าคงซึ่งคอยสังเกตปฏิกิริยาของมิ่งต่อปรางอยู่โดยตลอด คงรู้สึกสงสารขึ้นมา
“ข้าช่วยพี่เอาไหม” เจ้าคงพูดขึ้น ในคืนหนึ่งที่มานั่งริมน้ำคุยกับมิ่ง
“ช่วยเรื่องอันใด” มิ่งแกล้งทำเป็นไม่รู้ความหมายของเจ้าคง
“มิต้องทำเป็นมิรู้เรื่องดอกพี่ ก็ช่วยเป็นสื่อให้พี่กับพี่ปรางอย่างไรเล่า”
“เอ้อ..” มิ่งอึกอัก แต่นึกไปอีกที อย่างไรก็คงปิดเด็กหนุ่มสอดรู้สอดเห็นอย่างเจ้าคงไม่มิด จึงกล่าวไปว่า
“อย่าคะนองเลยเจ้า มิเหมาะควรดอก ปล่อยข้าไว้เยี่ยงนี้เถิด”
“ข้าบอกพี่อีกครั้งก็ได้ พี่ปรางมิได้ชอบพอพี่เดชอย่างคิดจะออกเรือนด้วยเลย หากพี่รักใคร่นาง นับว่ามีหวังอยู่ จักมิลองดูสักครั้งฤา”
“พี่ปรางของเจ้ามิได้มีเยื่อใยกับพ่อเดชจริงฤา ข้าเห็นนางดูจักยินดีคราที่พ่อเดชอยู่ใกล้”
“ข้าได้ยินนางบอกแม่ข้าจริงๆ นางรักใคร่พี่เดชอย่างพี่ชายคนหนึ่งเท่านั้น มีแต่พี่เดชนั่นแหละ ที่หมายจักเป็นคู่ของนางอยู่ข้างเดียว” เจ้าคงว่า
“ถึงกระนั้นต่อไป นางต้องออกเรือนไปกับพ่อเดชแน่ ยากนักที่จักแปรเปลี่ยนไปอื่น ข้ามิมีหวังอันใดดอก”
เจ้าคงถอนหายใจ
“เช่นนั้นก็ตามใจพี่เถิด ข้ามิอยากให้พี่สิ้นหวังเพียงเท่านั้นแหละ” แล้วมันก็ลุกขึ้นเดินจากไป ทิ้งให้มิ่งนั่งครุ่นคิดถึงวันที่เดชเข้ามาคุยกับตัวเขาในราตรีหนึ่ง เช่นเดียวกับอีกหลายๆ คืน ราวกับหวังจะปลุกปลอบให้เขาหายจมอยู่กับความทุกข์
“ข้ากับแม่ปรางเติบโตมาด้วยกัน” เดชเล่า “พ่อครูพันกับพ่อข้าเป็นเพื่อนร่วมสาบานกัน ต่อมาพ่อข้าตาย พ่อครูพันก็รับข้าไว้เป็นศิษย์ ได้ฝึกวิชาอาวุธพร้อมกับแม่ปราง ข้ามิเคยพบหญิงใดที่งามแลดีพร้อมเท่าแม่ปราง จึงยินดียิ่งนัก ที่ผู้ใหญ่หมายให้เราทั้งสองได้ครองคู่อยู่กินกัน”
มิ่งยิ้มกับเดช แต่ยิ้มนั้นคงเจื่อนเต็มที่ ได้แต่บอกตัวเองอยู่ในใจว่า เขาก็มิเคยพบหญิงใดที่งามและดีพร้อมเท่าแม่ปรางเช่นกัน
“ที่นางยังมิออกเรือนกับข้า ก็ด้วยรอให้เสร็จศึกกับขอมก่อน” เดชว่า
ถ้าเช่นนั้น หากศึกขอมเสร็จสิ้น คงเป็นเวลาที่เราต้องขมขื่นใจมิใช่น้อย มิ่งคิด แต่ก็ถามออกไปว่า
“เราจักทำศึกกับมันเมื่อใด พี่เดช”
“ก็คงมินานจากนี้ดอก เมื่อวานพ่อขุนบางกลางหาวท่านมาเยี่ยมพ่อครู” เดชว่า
มิ่งนึกถึงบุรุษผู้งามสง่าที่มาเยือนบ้านพ่อครูพัน ยามนั้นมิ่งกำลังง่วนอยู่กับการผ่าฟืนจนมิได้แลเห็นว่า ใครๆ ต่างนั่งลงยกมือพนมต่อหน้าบุรุษผู้มาเยือนนั้น จนกระทั่งแม่จู แม่ใจที่เดินตามมาต้องร้องบอกให้มิ่งนั่งลงเสีย
“พ่อมิ่ง ไยมินั่งลงเล่า” แม่ใจร้องบอกเสียงดัง มิ่งยังยืนเก้กัง
“นั่งลงเร็ว” แม่จูร้องสำทับ
มิ่งนั่งลงและพนมมือไหว้บุรุษที่มาพร้อมกับชายอื่นๆ อีก 5-6 คน ซึ่งได้รับการบอกเล่าภายหลังว่าท่านคือพ่อขุนบางกลางหาว ผู้ครองเมืองบางยาง ท่านแลมองมาที่มิ่ง ยิ้มนิดหนึ่งแล้วพูดแต่เพียงว่า
“นี่ลูกศิษย์ใหม่พ่อครูหรือ ตั้งใจศึกษาวิชาจากพ่อครูให้ดีนะ”
แต่เพียงเท่านี้ มิ่งก็หัวใจพองโต รู้สึกได้ถึงความสง่าน่าเกรงขามไม่เหมือนผู้ใดของท่าน รอยยิ้มนั้นก็บ่งบอกถึงความเมตตาในหัวใจอันเต็มเปี่ยม
เดชเล่าเรื่องต่อ
“เดิมพ่อขุนบางกลางหาว ท่านดำรงตำแหน่งขุนยี่ครองเมืองศรีสัชนาลัย ข้าขอเล่าสักหน่อย คือพ่อขุนศรีนาวนำถมซึ่งพ่อข้าเคยรับใช้อยู่ ท่านครองสองนคร สุโขทัยกับศรีสัชนาลัย ภายหลังประทับอยู่ที่นครสุโขทัยแห่งเดียว ส่วนศรีสัชนาลัยนั้นทรงตั้งขุนยี่ไปปกครอง ภายหลังพอสิ้นพ่อขุนนาวนำถม ไอ้ขอมสบาดโขลญลำพงมันยึดครองสุโขทัย พ่อขุนบางกลางหาวซึ่งเป็นขุนยี่จึงต้องไปเมืองบางยาง พ่อขุนผาเมืองผู้สหาย ทั้งเป็นโอรสพ่อขุนศรีนาวนำถม มาหารือ ท่านทั้งสองตกลงที่จักรวมกำลังกันตีเอาเมืองคืนจากไอ้ขอมให้จงได้ ขอให้พวกเราเตรียมกำลังกันให้พร้อมได้แล้ว เจ้าเองเมื่อสมัครใจมาเป็นนักรบแล้ว จงเตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้ดีเถิดหนา”
“ข้าขอบคุณพี่มากที่บอกเล่าเรื่องนี้แก่ข้า” มิ่งกล่าว
มิ่งนั่งกอดเข่าปล่อยให้ความคิดลอยไปเรื่อยๆ ดุจเดียวกับสายน้ำ จึงมิทันรู้สึกตัวว่า ร่างๆ หนึ่งเดินมาหยุดยืนอยู่เบื้องหลัง เสียงกระแอมที่ดังขึ้นจากร่างนั้น ปลุกให้มิ่งตื่นออกมาจากห้วงความคิด เขาหันหลังไปตามเสียงนั้น...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น